Apple กับสิทธิบัตร Sync ข้อมูลไร้สาย! พิทักษ์ผลประโยชน์หรือกีดกันทางการค้ากันแน่?
ถ้าใครเคยดู Pirates of Silicon Valley หรือเป็นนักเล่นคอมเก๋าๆ หน่อย คงจำกันได้ว่า Apple ก็เป็นหนึ่งในผู้นำการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ (แม้จะขโมย UI มาจาก Xerox มาก็ตาม – ฮา) เสมอ และเป็นเจ้าของสิทธิบัตรนวัตกรรมมากมาย เช่น ฟังก์ชั่นตั้งค่าของกล้องดิจิตอลในยุุคแรกเริ่ม, ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ ไปจนกระทั่งของเล็กๆ ดูไม่สำคัญ แต่ก็เป็นระดับสิทธิบัตรไปแล้วอย่าง iPod Shuffle ซึ่งไม่น่าแปลกใจว่าทำไม Apple ถึงหาเรื่องฟ้องค่ายอื่นได้ตลอดเวลา (ฮา) เพราะสิทธิบัตรสมัยป๋า Jobs ครอบคลุมแทบจะทุกหย่อมหญ้าในแวดวงอุปกรณ์ไอทีนันเอง
หนึ่งในนวัตกรรมทันสมัยที่ Apple จัดการจดสิทธิบัตรการคิดค้นเป็นของตัวเองเรียบร้อย ก็คือ วิธีการ Sync ข้อมูลระหว่างอุปกรณ์มัลติมีเดียกับคอมพิวเตอร์ผ่านระบบไร้สาย อาจจะอ่านแล้วงงๆ ว่ามันเป็นสิทธิบัตรได้ยังไง และทำไม ใช่มั้ยครับ? มันก็คือหนึ่งในการวางรากฐานแนวคิด ดีไซน์ และการตลาดแบบหาคนกล้าลอกไม่ได้ (ยกเว้นพี่จีน) ระบบนี้ทำให้คุณสามารถซิงค์ข้อมูลกันได้อย่างต่อเนื่องไม่ว่าอุปกรณ์จะไปโยนไว้มุมใดของชีวิตคุณนั่นเอง มาดูกันว่า Apple วางกลยุทธ์อะไรกันไว้บ้าง
อย่างแรกเลย Apple เคลมว่า วิธีการส่งผ่านข้อมูลนั้น “พัฒนา” มาอย่างเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเตรียมข้อมูล การส่งและการรับข้อมูลของอุปกรณ์ต้นทางและปลายทาง และชี้สิทธิบัตรดังกล่าวให้ครอบคลุมถึง “ขั้นตอนวิธีการส่งข้อมูล” อย่างชัดเจน ชนิดว่าใครคิดจะทำตาม อ่านหาช่องว่างที่ตนเองจะไปผลิตได้ ยากราวกับเป็นทนายจำเลยหาช่องโหว่กฎหมายกันเลยทีเดียวล่ะ
อย่างที่สอง ข้อมูลมัลติมีเดียที่ส่งนั้น Apple เขียนครอบคลุมไปตั้งแต่ ไฟล์ภาพ เสียง วีดิโอ ถ้ามีคนอยากออกแบบบ้าง นอกจากวิธี “เรียก-ส่ง-รับ” ที่ทำให้เหมือนก็ไม่ได้ หรือไม่ก็จ่ายอานแล้ว ก็ต้องมานั่งออกแบบไฟล์ฟอร์แมตแบบใหม่ๆ กันเลย ไม่เช่นนั้นพี่ Apple ก็มีสิทธิ์ไม่ไว้หน้า ฟ้องกันได้อีก
ซึ่งเฉพาะการซิงค์ข้อมูลแบบไร้สาย ปัจจุบันก็เป็นที่ยอมรับกันว่า มีอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Handheld, Tablet หรือพวกอุปกรณ์เล่นเกม-ฟังเพลงที่เกลื่อนตลาด และยังมีโน้ตบุ๊คอีก นี่ก็น่าจะราวๆ 80% ของอุปกรณ์ไร้สายทั่วโลกแล้วถ้าไม่รวมโทรศัพท์มือถือ (ที่ Apple ก็แชร์ส่วนแบ่งตลาดไปไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหรอีก เรียกว่าหันซ้ายก็ขายไป หันขวาก็จดสิทธิบัตรขวางผู้ค้ารายอื่นไปเลยก็ยังได้) ตัวอย่าง CNET ที่แนะนำระบบซิงค์คอนเทนต์ใน Spotify เข้าไปยังอุปกรณ์ที่ใช้ OS Android ก็ร้อนๆ หนาวๆ จะโดน Sue (ฟ้อง) วันไหนก็ไม่รู้ นี่ถือเป็นความฉลาดหรือแกมโกงของ Apple หรือการปกป้องตนเองในตลาดกันล่ะนี่?
ล่าสุดก็เพิ่งมีการจดสิทธิบัตร “การที่โลโก้แอปเปิ้ล(แหว่ง)สว่างขึ้นเมื่อเปิดเครื่อง MacBookPro” เอาง่ายๆ แค่ MSI Ivy Bridge ตัวที่เรากำลังจะทดสอบ เรื่องนี้ก็โดนฟ้องได้แล้ว จริงมั้ยครับ
เนื่องด้วยกฎหมายสิทธิบัตรเป็นอะไรที่ “พิทักษ์ผลประโยชน์” และว่ากันตามตรง “มาก่อนมีสิทธิ์ก่อน ตัดวงจรคู่แข่งถึงตาย” ทำให้บริษัทนวัตกรรมโดยเฉพาะใน Silicon Valley ตื่นตัวกันขนานใหญ่ ยกตัวอย่างล่าสุด Pendrell ลงทุนจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาร่วม 1,300 ชิ้น ครอบคลุมอุปกรณ์ตั้งแต่ Wireless 4G ไปจนถึงระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ซึ่งแน่นอนว่าต้องทำกำไรให้บริษัทมหาศาลในอนาคต อีกหน่อยผู้ผลิตรายย่อยที่ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ คงไม่ได้ตายเพราะเทคโนโลยีสู้ไม่ได้ แต่ตายเพราะจดสิทธิบัตรหรือจ่ายค่าสิทธิบัตรไม่ไหวแทนเป็นแน่แท้
คงได้ไอเดียกันบ้างจากประเทศที่ฟ้องได้ยันกรณีโค้กหกใส่แล้วบอกว่าไม่มีวิธีจับแก้วอย่างปลอดภัยเขียนไว้ ถึงเราจะไม่ได้เป็นผู้ประกอบการโดยตรง แต่การรู้ทันกลยุทธ์หรือเล่ห์ทางธุรกิจ ก็จะทำให้เราไม่ตกยุคข้อมูลข่าวสารครับ อย่างน้อยเราคิดทำอะไรขึ้นมา ถ้าคิดจะขายกันยาวๆ เอาไปจดสิทธิบัตรเถอะ เผื่อสักวันผมจะได้เห็นคนไทยเป็นเศรษฐีจากการขายสิทธิบัตรกันบ้าง )
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น